เครื่องมือต่อสู้กับข่าวปลอมของเฟซบุ๊ก
“มาร์ก ซักเคอร์เบิร์กประกาศแนวคิดในการจัดการข้อมูลที่ไม่ถูกต้องในเฟซบุ๊ก”
ปัจจุบันสื่อโซเชียล (Social Media) เช่น เฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ เข้ามามีบทบาทกับชีวิตประจำวันของคนส่วนใหญ่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ การส่งต่อข้อมูลข่าวสารอย่างรวดเร็วระหว่างผู้ใช้จึงส่งผลกระทบทั้งด้านบวกและด้านลบต่อสังคมในวงกว้าง เราสามารถเห็นได้บ่อยครั้งว่าผู้ใช้บางส่วนได้ตกเป็นเครื่องมือของผู้ไม่ประสงค์ดีในการกระจายข้อมูลที่ผ่านการดัดแปลง หรือมีเนื้อหาเอนเอียงต่อการก่อให้เกิดผลดีหรือผลเสียต่อคนกลุ่มอื่น เช่น กรณีข้อกล่าวหาเรื่องความไม่เป็นกลางของเฟซบุ๊กในการนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับการเลือกตั้งประธานาธิบดีประเทศสหรัฐอเมริกา
ปัญหาดังกล่าวส่งผลให้หนึ่งในผู้ก่อตั้งเฟซบุ๊กอย่างมาร์ก ซักเกอร์เบิร์ก ออกมาแสดงจุดยืนถึงความพยายามในการต่อสู้กับข่าวปลอมหรือข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง (Misinformation) โดยเขาได้ประกาศเจตนารมณ์ที่จะพัฒนาวิธีการแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยมีเป้าหมายดังนี้
1) เครื่องมือหรือระบบที่ถูกสร้างขึ้นต้องสามารถเรียนรู้กฎเกณฑ์ในการจำแนกข้อมูล โดยศึกษาจากการรายงานข้อมูลที่ไม่ถูกต้องจากผู้ใช้ และนำกฎเหล่านั้นมาใช้งานจริงได้อย่างอัตโนมัติ
2) ผู้ใช้เฟซบุ๊กต้องสามารถรายงานข้อมูลที่ผิดพลาดให้ผู้ดูแลระบบทราบได้โดยง่าย
3) สร้างความร่วมมือกับองค์กรอื่นๆ ที่ทำงานด้านระบบตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูล
4) การแจ้งเตือนผู้ใช้ถึงระดับความเสี่ยงต่อความผิดพลาดของข้อมูลหรือข่าวสารแต่ละชิ้น ก่อนที่ผู้ใช้จะอ่านหรือส่งต่อข้อมูลดังกล่าว
5) ปรับปรุงวิธีการคัดเลือกข้อมูลหรือข่าวสารที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะถูกแสดงอยู่ในหน้าจอบริเวณใกล้เคียงกับข่าวที่ผู้ใช้กำลังอ่านในขณะนั้น
6) จากการศึกษาพบว่าข้อมูลที่ผิดพลาดจำนวนมากเกิดจากโฆษณาที่มุ่งเป้าหมายไปยังกลุ่มผู้ใช้ที่มีความสนใจด้านการเงินและการลงทุน เฟซบุ๊กจึงวางแผนที่จะพัฒนานโยบายที่สามารถควบคุมโฆษณาในกลุ่มดังกล่าวเพื่อลดการสร้างความสับสนในข้อมูลเชิงเศรษฐศาสตร์
7) รับฟังความคิดเห็นและเรียนรู้จากสื่อมวลชน รวมถึงผู้ที่ทำงานในวงการวารสารศาสตร์เพื่อสร้างความเข้าใจในการพัฒนาระบบตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูล
อย่างไรก็ตาม ประเด็นเหล่านี้ยังเป็นเพียงแนวคิดเบื้องต้นในการจัดการข้อมูลของเฟซบุ๊กเพื่อจะแก้ไขปัญหาความถูกต้องของข้อมูลข่าวสารในสื่อโซเชียล ผู้ใช้ควรจะต้องติดตามถึงวิธีการพัฒนาระบบและความคืบหน้าของโครงการนี้ต่อไปอย่างใกล้ชิด
ภาพจาก
https://www.flickr.com/photos/briansolis/2696198607
ที่มาของข้อมูล
Facebook. (n.d.). Retrieved December 16, 2016, from https://www.facebook.com/zuck/posts/10103269806149061
Lawler, R. (2016). Mark Zuckerberg explains how Facebook is fighting fake news. Retrieved December 16, 2016, from https://www.engadget.com/2016/11/19/mark-zuckerberg-explains-how-facebook-is-fighting-fake-news/
Solon, O. (2016). Facebook's failure: did fake news and polarized politics get Trump elected? Retrieved December 16, 2016, from https://www.theguardian.com/technology/2016/nov/10/facebook-fake-news-election-conspiracy-theories