th th
en

เม่นหมวกกันน็อค สิ่งมีชีวิตที่พบได้ยากในประเทศไทย

 

08 Colobocentrotus atratus 1

 

            เมื่อไม่นานมานี้มีรายงานข่าวพบ “เม่นหมวกกันน็อค” โดยเจ้าหน้าที่กรมอุทยานหมู่เกาะสิมิลัน - เกาะบางงู  จังหวัดพังงา สร้างความตื่นเต้นแก่ผู้พบเห็นเพราะรูปร่างหน้าตาที่แปลกไปจากเม่นทะเลชนิดอื่นๆ

            เม่นหมวกกันน็อค หรือเม่นหมวกเหล็ก (Colobocentrotus atratus) จัดเป็นสัตว์ทะเลหายากในประเทศไทย ตามลำตัวไม่มีหนามแหลมเหมือนเม่นทะเลทั่วๆ ไป ลักษณะเป็นแผ่นหรือเกล็ดคลุมลำตัว คล้ายกระเบื้องมุงหลังคาบ้าน ปกติแล้วสามารถพบได้ทั่วไปในเขต อินโด-แปซิฟิกและมหาสมุทรอินเดีย ในประเทศไทยจะพบได้ยากมาก โดยมีรายงานการพบครั้งแรกในปี พ.ศ. 2530 โดย ดร.สมชัย บุศราวิช อดีตผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา และครั้งที่สองในปี 2547 โดย ดร.สุเมตต์ ปุจฉาการ นักวิชาการ สถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเล มหาวิทยาลัยบูรพา ซึ่งทั้งสองครั้งพบที่เกาะราชา จ.ภูเก็ต

            เม่นหมวกกันน็อค เป็นหอยทะเลหรือเม่นทะเล ?

            คงคล้ายกับการเรียก “วาฬ” หรือ “ปลาวาฬ” นั่นเอง ซึ่งทำให้หลายคนสงสัยว่า แท้จริง “ปลาวาฬ” เป็นปลาหรือไม่ คำตอบตามหลักวิชาการ คือ วาฬ เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ไม่ใช่ปลาตามที่ถูกเรียกขานแต่อย่างใด “หอยเม่น” ก็เช่นเดียวกัน พวกมันไม่ใช่ “หอย” แต่เป็น “เม่นทะเล” ซึ่งจัดเป็นสัตว์ในกลุ่มผิวลำตัวเป็นหนาม (Echinoderm) เช่นเดียวกับ ดาวทะเล ดาวขนนก ดาวเปราะ และปลิงทะเล การที่วาฬ ถูกเรียกว่า “ปลาวาฬ” และเม่นทะเล ถูกเรียกว่า “หอยเม่น” นั้น เป็นเพราะรูปร่างของพวกมันคล้ายคลึงกับ “ปลา” และ “หอย” นั่นเอง และคงไม่ผิดอะไรถ้าหลายคนจะยังคงเรียกพวกมันว่า “ปลาวาฬ” และ “หอยเม่น” เพียงแต่ว่าต้องเข้าใจว่าพวกมันไม่ใช่ “ปลา” และไม่ใช่ “หอย” เท่านั้นเอง

 

08 Colobocentrotus atratus 2

 

            เม่นหมวกกันน็อค ทำไมไม่มีหนาม ?

อย่างที่เกริ่นไปแล้วตอนต้นว่า ลักษณะของเม่นหมวกกันน็อค แปลกกว่าเม่นชนิดอื่นๆ  หนามที่ปกคลุมลำตัวปรับรูปร่างไปเป็นแผ่นเหมือนกระเบื้องมุงหลังคาแทน เพื่อให้เหมาะกับถิ่นที่อยู่อาศัย เม่นชนิดนี้อาศัยในพื้นที่ที่มีคลื่นลมรุนแรงตลอดเวลา การมีหนามแหลมจะเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการดำรงชีวิต และอีกเหตุผลหนึ่งก็คือคลื่นลมที่แรงทำให้มีนักล่าจำนวนน้อยที่จะเข้าถึงตัวพวกมันได้ หนามแหลมที่ใช้ป้องกันตัวจึงหมดความจำเป็น

               สำหรับผู้อ่านคนไหนที่สนใจ สามารถมาชมตัวอย่างเจ้าเม่นหมวกกันน็อค ที่นิทรรศการ พินิจ พิพิธ-พันธุ์ พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา

 

ผู้เรียบเรียง : นางสาวปัฑารีย์ สุวรรณลาภเจริญ

ที่มาของแหล่งข้อมูล : https://www.brighttv.co.th/news/local/discover-colobocentrotus-atratus 

                        หรรษานานาสัตว์

 

 
กรอกอีเมลเพื่อติดตามข่าวสาร