ฉลามนักล่า...!!
จากที่เป็นข่าวอันโด่งดังว่า มีนักท่องเที่ยวได้ลงไปเล่นน้ำบริเวณ หาดทรายน้อย อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ แล้วได้เกิดเหตุ ถูกฉลามกัดบริเวณข้อเท้า จนได้รับบาดเจ็บ นอกจากนั้นยังพบปลาฉลามแหวกว่ายใกล้แนวหิน บริเวณวัดถ้ำเขาเต่า ที่อยู่ใกล้กับหาดทรายน้อยอีกด้วย
จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้นักท่องเที่ยวตื่นตระหนกเป็นอย่างมาก ซึ่งทางนักวิชาการหลายท่านคาดคะเนว่าน่าจะเป็นฉลามหัวบาตรตัวเล็กที่อายุน้อย หรือลูกปลาฉลาม ขนาดประมาณ 80-10 เซนติเมตร
รูปร่างหน้าตาฉลามหัวบาตร ?
ปลาฉลามหัวบาตรจัดอยู่ในกลุ่มปลาฉลามครีบดำ (Family Carcharhinidae) ซึ่งเป็นกลุ่มปลาฉลามที่มีจำนวนชนิดมากที่สุด โดยมีลักษณะเด่นของลามวงศ์นี้ คือ ลำตัวมีรูปทรงกระสวย จะงอยปากเป็นรูปทรงกรวย ปากมีขนาดใหญ่โค้งเป็นรูปทรงพระจันทร์เสี้ยว มีฟันบนขากรรไกรเป็นรูปสามเหลี่ยมคมเหมือนมีดโกน ด้วยคุณลักษณะพิเศษทำให้ฉลามวงศ์นี้ ว่ายน้ำได้อย่างรวดเร็วคล่องแคล่ว และกัดฉีกเหยื่อด้วยฟันที่แหลมคม เป็นนักล่าประจำท้องทะเล มันสามารถกินอาหารได้หลากหลาย ตั้งแต่ ปลา กุ้ง ปู นก เต่า งูทะเล และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม
ปลาฉลามหัวบาตรชนิดนี้ที่เราจะพูดถึง ชนิด Carcharhinus leucas มีลักษณะเด่น คือ จะงอยปากค่อนข้างทู่สั้น ตามีขนาดเล็ก ปลายครีบหลัง ครีบอก ครีบท้อง และครีบก้น มีสีเทาดำจาง ปลาฉลามเพศเมียจะออกลูกเป็นตัว ลูกปลาที่คลอดออกมาใหม่จะมีความยาว 56-80 เซนติเมตร เมื่อโตเต็มวัยจะมีความยาว 1.5-3.4 เมตร ปลาชนิดนี้อาศัยตามท้องทะเลใกล้ฝั่ง และปากแม่น้ำ ทำให้พวกมันถูกจับโดยบังเอิญ จากการทำประมงอยู่บ่อยครั้ง และบางครั้งปรากฏว่ามีการจู่โจม และกัดมนุษย์ที่ว่ายน้ำตามชายหาดน้ำตื้น
เนื่องจากแหล่งอาศัยปลาฉลามชนิดนี้ อยู่ใกล้กับกิจกรรมของมนุษย์มากกว่าฉลามชนิดอื่นๆ และเป็นปลาฉลามที่มีพฤติกรรมนักล่า จึงมักมีรายงานข่าวจากทั่วโลกว่า ฉลามชนิดนี้กัดมนุษย์อยู่บ่อยครั้ง ตามรายงานของ International Shark Attack Flie (ISAF,Florida Museum, U.S.A) พบมนุษย์ถูกกัดโดยฉลามชนิดนี้โดยบังเอิญถึง 69 ครั้ง โดย 17 ครั้ง ทำให้เสียชีวิต
การอยู่ร่วมกันระหว่างมนุษย์และฉลาม
ถึงแม้นักล่า อย่างฉลามหัวบาตรจะดูน่ากลัว หากเราบังเอิญพบเจอในธรรมชาติ แต่ทราบหรือไม่ว่า ทุกวันนี้ฉลามถูกจับจากการทำประมงจำนวนมาก และหลายชนิดเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ หากนักล่าเหล่านี้หายไปจากระบบนิเวศจะเกิดอะไรขึ้น คำตอบเหล่านี้ เราจะเห็นได้จากสิ่งรอบตัว เช่น ถ้าไม่มีเสือในป่า ก็จะทำให้ป่าขาดความอุดมสมบูรณ์ ไม่มีเหยี่ยวบนท้องฟ้าส่งผลให้ประชากรนกพิราบเพิ่มขึ้น สิ่งเหล่านี้จึงกระตุ้นให้มนุษย์ขบคิดและเรียนรู้ว่าเราจะอยู่ร่วมกับสัตว์นักล่าได้อย่างไร เพราะสัตว์นักล่า คือความยั่งยืนของธรรมชาติและมนุษย์
ภาพจาก : https://www.shutterstock.com/th/image-photo/bullshark-remora-fish-76718218
ที่มาข้อมูล : https://www.khaosod.co.th/around-thailand/news_2709131
ผู้เรียบเรียง : นางสาวปัณฑารีย์ สุวรรณลาภเจริญ
บรรณาธิการ(วิชาการ) : นายวีระ วีระศรี
บรรณาธิการ(ภาษา) : นางสาวอารมณ์ มุจรินทร์
ผู้อนุมัติการเขียน : นางสาวอารมณ์ มุจรินทร์