สวย วิบวับ ด้วยกากเพรชเซลลูโลสรักษ์โลก
กากเพชรนิยมมาตกแต่งวัตถุต่าง ๆ ในช่วงเทศกาลหรืองานเฉลิมฉลอง
ในเทศกาล การเฉลิมฉลอง หรือ แม้การแต่งหน้า อาจต้องการความวิบวับอย่างกากเพรชมาช่วยสร้างบรรยากาศ และความแวววาวสะท้อนแสง กากเพชรส่วนใหญ่ผลิตด้วยการเคลือบอะลูมิเนียมบนแผ่นพลาสติกบาง ๆ แล้วตัดเป็นชิ้นเล็ก ๆ ข้อเสียของกากเพรชเหล่านี้ คือ การทำความสะอาดเก็บกวาดได้ค่อนข้างยาก และยังก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมจากการปนเปื้อนของไมโครพลาสติก เนื่องจากกากเพรชเป็นพลาสติกขนาดเล็กที่สามารถเข้าสู่ร่างกายของสิ่งมีชีวิต และทำให้เกิดอันตรายได้ จึงได้มีนักวิจัยพยายามพัฒนากากเพรชด้วยวัตถุดิบจากธรรมชาติ ที่สามารถย่อยสลายได้เองในธรรมชาติ
วารสารวัสดุธรรมชาติ (Nature Material) ได้เผยแพร่งานวิจัยและพัฒนาการนำเซลลูโลส (Cellulose) ซึ่งเป็นส่วนประกอบของผนังเซลล์ของพืชที่มีชื่อว่ามาร์เบิลเบอร์รี่ (Marbleberry) หรือชื่อวิทยาศาสตร์คือ Pollia condensate มีผลทรงกลม ผิวมันวาวสะท้อนแสงสีม่วงเหลือบน้ำเงินเฉพาะตัว พบได้ในป่าแถบประเทศเอธิโอเปีย โมซัมบิก แทนซาเนีย และประเทศอื่น ๆ ในทวีปแอฟริกา ไม่สามารถนำมารับประทานเป็นอาหารได้ไม่ว่าจะเป็นผลสด หรือผ่านกระบวนการแปรรูป แต่ในประเทศยูกันดาตะวันตกมีการนำผลไม้ชนิดนี้มาใช้ในประดับตกแต่ง
นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ (Cambridge University) ทำการศึกษาสายเซลลูโลสที่กระจายในผนังเซลล์ของผลมาร์เบิลเบอร์รี่ที่มีลักษณะเป็นเกลียวม้วนแน่นอันเป็นตัวกำหนดสีเฉพาะตัวที่เกิดขึ้นบนผิวของผล จากนั้นทดลองนำส่วนผสมที่มีเซลลูโลสจากผลมาร์เบิลเบอร์รี่มาเทลงบนแผ่นพลาสติกเพื่อขึ้นรูป เมื่อแห้งแล้วสามารถแกะออกมาเป็นแผ่นฟิล์มบาง ๆ ที่มีความวิบวับ สะท้อนแสงสีรุ้ง จากนั้นนำไปตัดเป็นชิ้นเล็ก ๆ ทำเป็นกากเพชรที่สามารถย่อยสลายได้ในธรรมชาติ และไม่เพิ่มปัญหาให้กับสิ่งแวดล้อม
แม้งานวิจัยดังกล่าวยังค่อนข้างใหม่ และยังไม่มีการวิจัยเพิ่มเติมเกี่ยวกับผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างเต็มที่ แต่กากเพชรเซลลูโลสนี้ก็ได้แสดงให้เห็นถึงความพยายามคิดค้นพัฒนาวัสดุใหม่ ๆ ที่ตอบสนองความต้องการของมนุษย์โดยยังคงคุณสมบัติความวิบวับ แวววาว สะท้อนแสง และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
ผลของพืช Pollia condensate (Marble Berry)
(ภาพโดย Juliano Costa https://commons.wikimedia.org/wiki/File:Pollia.jpg ภายใต้ลิขสิทธิ์ CC BY-SA 3.0)
เรียบเรียงโดย: นุชจริม เย็นทรวง นักวิชาการ กองวิชาการวิทยาศาสตร์ สำนักพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ อพวช.
ที่มา
This eco-friendly glitter gets its color from plants, not plastic. [ออนไลน์]. 2564, แหล่งที่มา https://www.sciencenews.org/article/glitter-eco-friendly-green-alternative-cellulose-plant-color [20 พฦศจิกายน 2564]
This Is What Edible Glitter Is Really Made Of. [ออนไลน์]. 2564, แหล่งที่มา https://www.mashed.com/651378/this-is-what-edible-glitter-is-really-made-of/ 20 พฦศจิกายน 2564]