ปัจจุบัน หลายท่านให้ความสนใจกับการตรวจสอบอาการแพ้อาหาร โดยส่วนใหญ่อาหารประเภท นม ไข่ ปลา ถั่วบางชนิด จะเป็นประเภทอาหารที่คนส่วนใหญ่เกิดอาการแพ้มากที่สุด ซึ่งน่าเสียดายอย่างยิ่งหากบางคนไม่สามารถรับประทานเหล่านี้ได้ เพราะอาหารเหล่านี้เป็นแหล่งสารอาหารที่สำคัญ และมีประโยชน์ต่อร่างกาย
ชาชิน รัสต์จี (Sachin Rustgi) และทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเครมสัน (Clemson University) ได้ศึกษาเกี่ยวกับการปรับปรุงพันธุ์พืช (Plant Breeding) และพันธุวิศวกรรม (Genetic Engineering) โดยการลดสารที่ทำให้เกิดอาการแพ้ของข้าวสาลี (Wheat) และถั่วลิสง (Peanuts) เพื่อเป็นทางเลือกด้านอาหารที่หลากหลายขึ้นสำหรับผู้ที่มีเกิดอาการแพ้อาหาร
ทีมวิจัยเลือก “สารกลูเตน (Gluten)” ซึ่งเป็นโปรตีนชนิดหนึ่งที่พบได้ในข้าวสาลี โดยข้าวสาลีถูกนำมาผลิตเป็นแป้งสาลี ด้วยเหตุนี้แป้งสาลีจึงนิยมนำมาใช้ในอาหารหลายประเภท เช่น ขนมปัง เบเกอรี่ และซอสต่าง ๆ จึงทำให้ส่งผลต่อกลุ่มคนที่แพ้กลูเตน เช่น ผู้ที่เป็นโรคเซลิแอค (Celiac Disease) โดย กลูเตนจะส่งผลต่อระบบภูมิคุ้มกัน ทำให้เกิดการอักเสบที่ลำไส้เล็กไม่สามารถดูดซึมไขมัน วิตามิน เกลือแร่ และสารอาหารอื่น ๆ ได้อย่างเพียงพอ หรือกลุ่มคนที่แพ้กลูเตนแบบไม่เป็นโรคเซลิแอคอาจทำให้เกิดอาการท้องอืดท้องเฟ้อ หรืออาการอื่น ๆ ได้เช่นกัน
ชาชินกล่าวว่า ความท้าทายของงานวิจัยนี้ส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับความซับซ้อนทางพันธุกรรมของกลูเตนที่อยู่ในดีเอ็นเอ (DNA) จึงเป็นเรื่องยากสำหรับนักปรับปรุงพันธุกรรมที่จะพัฒนาสายพันธุ์ให้ข้าวสาลี และถั่วลิสงมีระดับกลูเตนที่ต่ำ โดยซาชินใช้เทคนิค CRISPR (Clustered Regularly Interspaced Short Palindromic Repeats) ในการตัดต่อพันธุกรรมของกลูเตนในข้าวสาลีและถั่วลิสง เพื่อให้มีปริมาณกลูเตนลดลง
ซาซินกล่าวเพิ่มเติมว่างานวิจัยนี้นอกจากจะลดสารกลูเตนที่ก่อให้เกิดอาการแพ้แล้ว ยังสามารถพัฒนาการผสมสายพันธุ์ให้มีความแข็งแรง ผลผลิตสูง ต้านทานศัตรูพืช และมีเป้าหมายการในการพัฒนา ในเชิงพาณิชย์อีกด้วย
เรียบเรียงโดย ศศลักษณ์ มูลรินต๊ะ
นักวิชาการ กองวิชาการวิทยาศาสตร์ สำนักวิชาการพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์
ที่มา : American Society of Agronomy. Making wheat and peanuts less allergenic. [ออนไลน์]. [2021],
แหล่งที่มา: https://www.agronomy.org/news/science-news/making-wheat-and-peanuts-less-allergenic/ [29 มกราคม 2564]