มารู้จัก “โคโรนาแวค” วัคซีนไวรัสโควิด 19 ที่คนไทยควรรู้จัก
ปวิตา ลิขิตเดชาโรจน์
กองวิชาการวิทยาศาสตร์ สำนักวิชาการพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ อพวช.
ความท้าทายทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ ที่ได้รับความสนใจมากที่สุดในเวลานี้ คือการพัฒนาวัคซีนป้องกันการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่ทำให้เกิดโรคโควิด 19 และยาต้านไวรัส อันเป็นสิ่งที่ผู้คนทั่วโลกเฝ้ารออย่างใจจดจ่อ ประเทศไทยมีแผนการนำเข้าวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด 19 เพื่อใช้ภายในประเทศ โดยวัคซีนที่คนไทยจะได้รับในอนาคต มีชื่อว่า “โคโรนาแวค”
โคโรนาแวค (Coronavac) ถูกพัฒนาโดยบริษัทซิโนแวค ไบโอเทค (Sinovac Biotech) บริษัทชีวเภสัชภัณฑ์ที่มุ่งเน้นการพัฒนาวัคซีนในประเทศจีน โดยการนำเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ที่ตายแล้ว (Inactivated vaccine) มากระตุ้นภูมิคุ้มกันการทำงานของภูมิคุ้มกัน ต่างจากวัคซีนที่ใช้สารพันธุกรรม (RNA) ของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 (Nucleic acid vaccine) ของบริษัทไฟเซอร์ (Pfizer) และโมเดอร์นา (Moderna) และ วัคซีนที่เกิดจากตัดต่อสารพันธุกรรมของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ลงในไวรัสชนิดอื่นให้เป็นตัวนำ (Viral vector vaccine) ของบริษัทแอสตร้าเซเนก้า (AstraZeneca)
การนำเชื้อตายมาทำวัคซีนเป็นวิธีการผลิตวัคซีนแบบดั้งเดิมที่ใช้ในการผลิตวัคซีนป้องกันโรคหลายชนิดซึ่งได้ผลดี เช่น วัคซีนโปลิโอแบบฉีด วัคซีนโรคพิษสุนัขบ้า เป็นต้น จึงเชื่อว่ามีความปลอดภัยสูงกว่าวัคซีนรูปแบบอื่น โดยวัคซีน โคโรนาแวค สามารถเก็บได้ในตู้เย็นปกติ ที่อุณหภูมิ 2-8 องศาเซลเซียส เช่นเดียวกับวัคซีนของแอสตร้าเซเนก้า จึงทำให้ง่ายต่อการขนส่ง และเก็บรักษา
ขณะนี้โคโรนาแวคอยู่ระหว่างการทดลองเฟสที่ 3 ในบราซิล อินโดนีเซีย และตุรกี แม้จะเริ่มมีผลการทดลองถูกเผยแพร่ออกมาบางส่วน แต่ก็ยังไม่เป็นที่แน่ชัดถึงประสิทธิภาพของวัคซีนดังกล่าว แต่เพียงเท่านี้ก็ทำให้หุ้นของบริษัทซิโนแวคถูกซื้อโดยบริษัทในต่างประเทศ เช่น เครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือซีพี ของประเทศไทย เป็นต้น นอกจากนี้รัฐบาลจีนได้เริ่มใช้วัคซีคตัวนี้ในประชาชนกลุ่มเสี่ยง มาตั้งแต่เดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2563 เป็นกรณีพิเศษแล้ว
องค์การอนามัยโลก หรือ WHO ในประเทศไทย เผยว่ารัฐบาลไทยได้จัดซื้อวัคซีนโคโรนาแวค จำนวน 2 ล้านโดส โดยคาดการณ์ว่าวัคซีนชุดแรกจำนวน 2 แสน โดสจะเข้าสู่ไทยช่วงสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ชุดที่สองอีก 8 แสน โดส ในช่วงสิ้นเดือนมีนาคม 2564 และอีก 1 ล้านโดสเป็นวัคซีนของแอสตร้าเซเนก้า จะนำเข้าไทยในช่วงกลางปี 2564 ในปริมาณที่เพียงพอต่อจำนวนประชากรไทยทุกคน อย่างไรก็ตาม ระหว่างรอวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 คนไทยทุกคนควรใช้ชีวิตอย่างระมัดระวัง รักษาสุขภาพกายและใจ ใส่หน้ากาก ล้างมือบ่อย ๆ และรักษาระยะห่าง เพื่อให้สามารถผ่านวิกฤติการระบาดครั้งใหม่นี้ไปพร้อมกัน
ที่มาของแหล่งข้อมูล (Reference):
https://www.thelancet.com/action/showPdf?pii=S1473-3099%2820%2930843-4
https://www.bbc.com/news/world-asia-china-55212787
https://www.bbc.com/thai/international-54887690
https://www.thelancet.com/journals/lancet/article/PIIS0140-6736(18)31695-7/fulltext
https://www.nytimes.com/2018/07/23/world/asia/china-vaccines-scandal-investigation.html
https://www.reuters.com/article/us-health-coronavirus-turkey-china/turkey-says-chinas-sinovac-covid-vaccine-9125-effective-in-late-trials-idUSKBN28Y1R1
https://www.sciencedirect.com/topics/medicine-and-dentistry/inactivated-virus-vaccine
https://www.reuters.com/article/us-health-coronavirus-coronavac/sinovacs-vaccine-efficacy-less-than-60-in-brazil-trial-report-idINKBN29G14W
https://www.matichon.co.th/economy/news_2515433
เข้าถึงเมื่อวันที่ 12 มกราคม 2564
คำค้น (Tags) : วัคซีน, วัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโควิด 19. โคโรนาแวค, Coronavac, Sinovac