COVID-19 สายพันธุ์ G จุดเริ่มต้นการระบาดครั้งใหม่
ดร. ชนินทร์ สาริกภูติ กองวิชาการวิทยาศาสตร์ พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.)
สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 (COVID-19) ของประเทศไทยตอนนี้ถึงแม้จะไม่มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นในประเทศ แต่ตัวเลขของผู้ติดเชื้อที่เดินทางมาจากต่างประเทศยังคงมีปรากฏให้เห็นอยู่ หลายประเทศยังคงเผชิญกับวิกฤตการณ์การระบาด ด้วยยอดผู้ติดเชื้อสะสมที่มากถึง 16,341,920 คน และเสียชีวิตมากถึง 650,805 คน (ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก : WHO ณ วันที่ 28 กรกฎาคม 2563) บางประเทศต้องเตรียมรับมือกับการระบาดระลอกที่ 2 ที่ไม่รู้ว่าจะรุนแรงเพียงใด ยิ่งไปกว่านั้น ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ยังมีการกลายพันธุ์สร้างความวิตกกังวลให้กับผู้คนถึงความรุนแรงของโรคโควิด 19 ที่กำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้อีกเท่าทวี
นับตั้งแต่มีการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือ SARS-CoV-2 ภายนอกประเทศจีน ตัวไวรัสก็มีการกลายพันธุ์ในรูปแบบที่แตกต่างกัน ก่อนจะแพร่ระบาดในบางภูมิภาคหรือบางประเทศ ซึ่งการกลายพันธุ์ของไวรัสระหว่างที่มีการแพร่ระบาดนี้ถือเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ที่เป็นต้นตอของการระบาดจากประเทศจีน คือ สายพันธุ์ S และสายพันธุ์ L การแพร่ระบาดในประเทศไทยช่วงแรกนั้นเป็นสายพันธุ์ S มีลักษณะจำเพาะในตำแหน่ง 829 บนโปรตีนตรงส่วนหนามที่ใช้ในการยึดเกาะและเข้าสู่เซลล์ (Spike protein) ต่อมามีการเปลี่ยนแปลงเป็นกรดอะมิโน Threonine (T829) จึงเรียกว่าสายพันธุ์ T ส่วนสายพันธุ์ L ที่พบแพร่ระบาดได้ง่ายทั้งในและนอกประเทศจีน และพบระบาดมากในแถบยุโรปนั้นได้กลายพันธุ์เป็นสายพันธุ์ G และ V โดยสายพันธุ์ G เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของกรดอะมิโนในตำแหน่ง 614 บนโปรตีนตรงส่วนหนามที่ใช้ในการยึดเกาะและเข้าสู่เซลล์ โดยเปลี่ยนแปลงจากกรดอะมิโน Aspartate (D) ไปเป็นกรดอะมิโน Glycine (G) จึงเรียกว่า สายพันธุ์ G614 โดยสายพันธุ์ G นี้ยังกลายพันธุ์เป็น สายพันธุ์ GH และ GR อีกด้วย ซึ่งไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ที่เข้ามาจากต่างประเทศและที่ตรวจพบในพื้นที่กักกันโรคแห่งรัฐ (State Quarantine) ของประเทศไทยนั้น พบว่ามีการเปลี่ยนแปลงไปเป็นสายพันธุ์ G แล้ว นับเป็นสายพันธุ์ที่แพร่ระบาดได้ง่ายกว่าสายพันธุ์ S เนื่องจาก จากการศึกษาและข้อมูลในวารสาร Cell พบว่า ผู้ที่ติดเชื้อสายพันธุ์ G จะมีปริมาณเชื้อบริเวณลำคอค่อนข้างมาก เพราะสายพันธุ์ G สามารถเจริญเติบโตได้ดีในระบบทางเดินหายใจ จึงทำให้ผู้ติดเชื้อมีไวรัสสะสมในร่างกายเป็นจำนวนมาก และสามารถแพร่เชื้อไปยังผู้อื่นได้ง่ายและรวดเร็วกว่าสายพันธุ์อื่น แต่การกลายพันธุ์มาเป็นสายพันธุ์ G นี้ ไม่ได้ส่งผลให้ความรุนแรงของโรคเพิ่มมากขึ้นแต่อย่างใด เพียงแต่ทำให้มีการแพร่กระจายของเชื้อได้มากขึ้นเท่านั้น
หากเกิดการระบาดระลอกที่ 2 ของสายพันธุ์ G ระบบภูมิคุ้มกันของมนุษย์อาจต้องใช้เวลานานขึ้นเพื่อต่อสู้กับไวรัสที่เจริญเติบโตในร่างกายอย่างรวดเร็ว ทำให้การรักษาอาจต้องใช้เวลานานกว่าเดิม ตราบใดที่ไวรัสยังแพร่ระบาด การกลายพันธุ์ก็มีโอกาสเกิดขึ้นได้ และไม่มีใครรู้ว่าการกลายพันธุ์ครั้งต่อไปจะนำมาซึ่งความรุนแรงของโรคมากขึ้นกว่าเดิมหรือไม่ ดังนั้น หนทางรับมือและป้องกันโรคโควิด 19 ที่เรายังต้องตระหนักท่ามกลางวิกฤตโรคระบาดก็คือ การปฏิบัติตนเพื่อป้องกันการติดเชื้อและการป้องกันการแพร่เชื้อ เพื่อลดความเสี่ยงของการระบาดระลอกใหม่ เพราะหากเกิดการระบาดระลอกที่ 2 สถานการณ์อาจจะหนักหนากว่าที่เป็นอยู่ตอนนี้ได้
ภาพจาก : https://www.nytimes.com/2020/06/12/science/coronavirus-mutation-genetics-spike.html
ที่มาข้อมูล :
"หมอยง" ชี้ไทยนำเข้าโควิด-19 สายพันธุ์ G แพร่เชื้อง่าย ถ้าระบาดต้องป้องกันเต็มที่. [ออนไลน์]. 2563, แหล่งที่มา https://www.thairath.co.th/news/society/1888088 [17 กรกฎาคม 2563]
Coronavirus disease (COVID-19) pandemic. [ออนไลน์]. 2563, แหล่งที่มา https://www.who.int/emergencies/diseases/novel-coronavirus-2019 [17 กรกฎาคม 2563]
คำค้น : ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019, COVID-19, สไปค์โปรตีน (Spike protein)
ผู้เขียน : ดร. ชนินทร์ สาริกภูติ นักวิชาการ กองวิชาการ พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ อพวช.
บรรณาธิการ (วิชาการ) : นางสาวอุมาภรณ์ เครือคำวัง ผู้อำนวยการกองวิชาการ พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ อพวช.
บรรณาธิการ (ภาษา) : นายอานุภาพ สกุลงาม นักวิชาการ กองวิชาการ พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ อพวช.
ผู้อนุมัติเผยแพร่ : นางสาวอุมาภรณ์ เครือคำวัง ผู้อำนวยการกองวิชาการ พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ อพวช.