คุณรู้หรือไม่ว่ามดมีประสาทสัมผัสในการรับกลิ่นดีกว่าแมลงชนิดอื่น ๆ 4 – 5 เท่าเลยนะ แต่มดใช้อะไรในการดมกลิ่น มดมีจมูกหรือเปล่านะ จริง ๆ แล้ว มดใช้หนวดในการดมกลิ่น ช่วยให้มันสามารถตามกลิ่นที่มดตัวอื่น ๆ ทิ้งไว้ให้ตามทาง รวมถึงกลิ่นของอาหาร
“หนวด” ของมดถือว่าเป็นอวัยวะที่สำคัญที่สุดในการรับรู้สิ่งรอบตัว มีลักษณะเป็นปล้อง ๆ มีลักษณะการหักเหมือนข้อศอก และมีจำนวนปล้องหนวดประมาณ 4 - 12 ปล้อง แต่ส่วนใหญ่จะอยู่ที่ 12 ปล้อง ปล้องแรกค่อนข้างยาวเรียกว่า ฐานหนวด (Scape) ใช้สำหรับหมุนเพื่อเปลี่ยนทิศทางหนวด ถัดไปเป็นส่วนข้อต่อหนวด (Pedicel) ช่วยให้ควบคุมหนวดได้ดียิ่งขึ้น ส่วนปล้องที่เหลือจะเป็นข้อสั้น ๆ ต่อ ๆ กันไปเรียกว่า เส้นหนวด (Funiculus หรือ Flagellum)
หนวดมีหน้าที่ในการสื่อสาร และตรวจจับบางสิ่งบางอย่าง โดยมดจะใช้ปลายหนวดยื่นแตะไปข้างหน้าเพื่อตรวจสอบวัตถุต่าง ๆ เราจะสังเกตได้ว่าระหว่างที่มดกำลังทำการสำรวจอยู่นั้น มดจะเดินช้าลง ระบบการดมกลิ่นของมดส่วนใหญ่มีศูนย์กลางอยู่ที่หนวด ประกอบด้วยตัวรับสัญญาณที่แตกต่างกัน ตัวรับกลิ่นจะระบุสารประกอบอะโรมาติกและฟีโรโมนที่แตกต่างกัน ในหนวดแต่ละข้างจะมีเส้นใยประสาทจำนวนมาก ทำให้มดมีความไวต่อกลิ่นมาก ซึ่งมดจะใช้หนวดเป็นตัวรับประสาทสัมผัสในการดมกลิ่นและหาอาหาร รวมทั้งสื่อสารกับมดรังเดียวกันเพื่อปกป้องรังจากศัตรูและดูแลตัวอ่อน นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยว่าสารประกอบที่พบบริเวณหนวดของมดนั้นสามารถใช้สื่อสารได้อีกด้วย
ผู้เขียน
นายญาณพัฒนุ์ บุญถนอม
แหล่งที่มาของข้อมูล
- https://news.vanderbilt.edu/2012/09/10/ants-have-an-exceptionally-high-def-sense-of-smell/ (สืบค้นเมื่อ 8/4/2563)
- https://www.terminix.com/blog/education/how-do-ants-find-food/ (สืบค้นเมื่อ 8/4/2563)
- https://www.nytimes.com/2019/01/22/science/ants-navigate-scent.html (สืบค้นเมื่อ 8/4/2563)
- https://www.sciencedaily.com/releases/2016/03/160330103328.htm (สืบค้นเมื่อ 10/4/2563)
- http://biology.ipst.ac.th/?p=759 สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พิพิธภัณฑ์มด คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ Ant Museum, Kasetsart University