เนื่องจากทั่วโลกมีการใช้ยาฆ่าแมลงเพื่อป้องการทำลายผลผลิตทางการเกษตรจากเหล่าแมลงศัตรูพืชเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้มีสารพิษตกค้างและปนเปื้อนอยู่ในอาหารของนก เช่น ผลไม้ เมล็ดพืช รวมถึงเหล่าแมลงและตัวหนอนที่สัมผัสกับยาฆ่าแมลง เมื่อนกกินอาหารที่มีสารพิษปนเปื้อนเหล่านี้เข้าไป ทำให้พวกมันกินอาหารน้อยลงจนทำให้มีน้ำหนักลดลง และมีความล่าช้าในการอพยพย้ายถิ่นฐาน ส่งผลให้จำนวนของนกหลายชนิดลดลงอย่างต่อเนื่อง
มากาเร็ต อิงจ์ (Magaret. ENG) และคณะ ได้ทำการศึกษาเกี่ยวกับการปนเปื้อนของยาฆ่าแมลงชนิดอิมิดาโคลพริด (Imidacloprid) ในอาหารนก ซึ่งยาฆ่าแมลงชนิดนี้จะทำให้แมลงมีความเฉื่อยชา อ่อนแรง หยุดกินอาหาร และตายในที่สุด แต่ไม่เป็นอันตรายต่อมนุษย์ พวกเขาได้นำนกกระจอกป่าสีขาวจำนวน 36 ตัว ที่กำลังอพยพจากทางตอนเหนือของเม็กซิโกและทางตอนใต้ของสหรัฐอเมริกาไปยังแคนนาดาและอลาสก้ามาทำการทดลองเลี้ยง โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มละ 12 ตัว กลุ่มแรกนี้จะเลี้ยงด้วยอาหารที่มียาฆ่าแมลงชนิดอิมิดาโคลพริด (Imidacloprid) ปนเปื้อนอยู่ในอาหารสูงกว่ามาตรฐาน และนกอีกกลุ่มจะเลี้ยงด้วยอาหารที่มียาฆ่าแมลงชนิดเดียวกันปนเปื้อนอยู่ในอาหารต่ำกว่ามาตรฐาน สำหรับสุดกลุ่มท้ายจะถูกเลี้ยงด้วยน้ำมันดอกทานตะวันที่ไม่มียาฆ่าแมลงปนเปื้อนอยู่ พบว่า นกที่ได้กินอาหารที่มียาฆ่าแมลงปนเปื้อนอยู่เกินมาตรฐาน จะมีน้ำหนักลดลงภายในหกชั่วโมง โดยหายไป 6 เปอร์เซ็นต์ของน้ำหนักเดิม เช่น นกมีน้ำหนักเฉลี่ย 27 กรัม จะมีน้ำหนักหายไป 1.6 กรัม
นอกจากนี้ มอร์ริสซีย์ (Morrissey) และคณะ เชื่อว่า ยาฆ่าแมลงชนิดนีโอนิโคตินอยด์ (Neonicotinoid) ที่เกษตรกรใช้เคลือบเมล็ดพืชเพื่อป้องกันแมลงรบกวนนั้น อาจส่งผลต่อการลดจำนวนลงของนกได้เช่นเดียวกัน จึงได้ทำการศึกษา และพบว่า นกที่กินเมล็ดพืชที่มียาฆ่าแมลงเคลือบอยู่อาจใช้เวลาในการบินเพื่ออพยพไปยังที่หมายยาวนานกว่าเดิม เนื่องจากนกเหล่านี้ต้องใช้เวลาพักตัวและฟื้นพลังนานกว่านกที่กินอาหารที่ไม่มีสารพิษปนเปื้อน ซึ่งใช้เวลาพักเพียงครึ่งวัน ในขณะที่นกที่ได้รับสารพิษจากยาฆ่าแมลงต้องใช้เวลาพักสามถึงสี่วัน ทำให้การอพยพไปถึงที่หมายล่าช้ากว่ากำหนด และอาจทำให้โอกาสในการจับคู่เพื่อผสมพันธุ์และการทำรังลดลง
จากหลักฐานงานวิจัย ชี้ให้เห็นว่า ยาฆ่าแมลงชนิดอิมิดาโคลพริด (Imidacloprid) และ โอนิโคตินอยด์ (Neonicotinoid) ที่หลายประเทศกำลังใช้อยู่อย่างแพร่หลาย และหลายคนเชื่อว่าพวกยาฆ่าแมลงเหล่านี้จะไม่ส่งผลกระทบต่อตัวเรานั้น มันกำลังส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตและดำรงเผ่าพันธุ์ของนก จึงทำให้มีการประกาศห้ามใช้ยาฆ่าแมลงทั้งสองชนิดนี้ในหลายประเทศในแถบทวีปยุโรป อย่างไรก็ตาม สหรัฐอเมริกาและประเทศแถบเอเชียยังคงใช้ยาฆ่าแมลงเหล่านี้อย่างแพร่หลายอยู่ เพราะเชื่อว่ายาฆ่าแมลงเหล่านี้ไม่เป็นอันตรายจนทำให้นกถึงแก่ชีวิต และนกสามารถพักฟื้นร่างกายสามถึงสี่วันหลังจากได้รับสารพิษเหล่านี้ก็มีอาการดีขึ้น แต่ถ้าหากเรายังคงใช้สารพิษเหล่านี้อย่างต่อเนื่องและใช้เพิ่มมากขึ้น อาจทำให้นกมีโอกาสสัมผัสและรับเอาสารพิษเหล่านี้เพิ่มมากขึ้นจนไม่สามารถพักฟื้นร่างกายให้หายดีได้ อาจทำให้นกเสียชีวิตและเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์เพิ่มขึ้น
ที่มาข้อมูล
ข่าววิทยาศาสตร์
Maanvi Singh (2019). Birds fed a common pesticide lost weight rapidly and had migration delays. ScienceNews [Online]. Available on https://www.sciencenews.org/article/birds-neonicotinoid-pesticides-farming-migration-delays. [Accessed 19 September 2019]
งานวิจัย
- Eng et al. A neonicotinoid insecticide reduces fueling and delays migration in songbirds. Science. Vol. 365, September 13, 2019. doi:10.1126/science.aaw9419.
R.L Stanton, C.A. Morrissey and R.G. Clark. Analysis of trends and agricultural drivers of farmland bird declines in North America: A review. Agriculture, Ecosystems & Environment. Volume 254, February 15, 2018, p. 254. doi:10.1016/j.agee.2017.11.028.
- Eng et al. Imidacloprid and chlorpyrifos insecticides impair migratory ability in a seed-eating songbird. Scientific Reports. Published November 09, 2017. doi:10.1038/s41598-017-15446-x.
ผู้เรียบเรียง วิลาสินี ไตรยราช