th th
en

11 กรกฎาคม 2561 –ขอนแก่น/ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) และองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการดำเนินงานการพัฒนาแหล่งเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ ในโครงการจัตุรัสวิทยาศาสตร์ภูมิภาค ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ณ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี มุ่งส่งเสริมและพัฒนาความรู้ความเข้าใจด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม และดาราศาสตร์ให้แก่เยาวชนและประชาชนในภูมิภาค เพื่อรองรับการพัฒนาเยาวชนและสังคมคุณภาพไปสู่ Thailand 4.0

          ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวในโอกาสร่วมแสดงความยินดีในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการดำเนินงานการพัฒนาแหล่งเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์โครงการจัตุรัสวิทยาศาสตร์ภูมิภาค ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ระหว่าง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารีและองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) ว่า ถือเป็นความร่วมมือครั้งสำคัญที่จะช่วยส่งเสริมการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรมและดาราศาสตร์ได้อย่างทั่วถึง ภายใต้ โครงการ จัตุรัสวิทยาศาสตร์ภูมิภาค เพื่อสร้างแรงบันดาลใจใหม่ ๆ ในด้านวิทยาศาสตร์ให้แก่เด็ก ๆ และเยาวชนในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้เข้าถึงวิทยาศาสตร์อย่างเต็มที่  ซึ่งจากความร่วมมือของทั้งสองหน่วยงานครั้งนี้ จะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนากระบวนการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ในภูมิภาคได้อย่างมีประสิทธิภาพ อันจะส่งผลต่อการพัฒนาการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ของเด็ก ๆ เยาวชน นักเรียน นักศึกษา ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้เปิดมุมมองใหม่ ตอบรับประสบการณ์นอกห้องเรียน ได้ปลูกฝังทัศนคติที่ดีในด้านวิทยาศาสตร์ เพราะอย่างน้อยในอนาคตข้างหน้า การเตรียมพร้อมเยาวชนรุ่นใหม่ให้พร้อมรับมือกับโลกเทคโนโลยีนั้น เราจะต้องเน้นความรู้ด้านสะเต็มศึกษา (STEM Education) ให้แก่น้อง ๆ เยาวชนรุ่นใหม่ เพื่อรองรับการประกอบอาชีพในอนาคต ซึ่งสอดรับกับนโยบาย “วิทย์สร้างคน” ของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่มุ่งหวังให้วิทยาศาสตร์สร้างสังคมเยาวชนคุณภาพ เพื่อพัฒนาประเทศไทยให้ก้าวไปสู่ Thailand 4.0 ต่อไปในอนาคต

          รศ.ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี กล่าวถึงความร่วมมือในครั้งนี้ว่า ทาง มทส.จะร่วมมือกับ อพวช. ส่งเสริมและพัฒนาองค์ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม ดาราศาสตร์ และการให้บริการแก่เยาวชนและประชาชน ภายใต้โครงการ จัตุรัสวิทยาศาสตร์ภูมิภาค ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งทางมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี มีความพร้อมและมีศักยภาพที่จะเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรมและดาราศาสตร์แห่งใหม่สำหรับภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยได้จัดเตรียมพื้นที่ภายในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี จังหวัดนครราชสีมา ให้เป็นที่ตั้งโครงการจัตุรัสวิทยาศาสตร์ภูมิภาค ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งความร่วมมือกันระหว่างสองหน่วยงานจะทำให้เกิดการพัฒนาแหล่งเรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม และดาราศาสตร์ร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ ถือเป็นการกระจายโอกาสการเรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์ครั้งสำคัญสู่ภูมิภาค ที่จะช่วยส่งเสริมให้นักเรียน นักศึกษา เยาวชนและประชาชนในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมาและจังหวัดใกล้เคียงในภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้เข้าถึงวิทยาศาสตร์อย่างใกล้ชิดและสามารถเดินทางมาศึกษาและเยี่ยมชมความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรมและดาราศาสตร์ที่น่าสนใจได้โดยไม่ต้องเดินทางไกลไปในพื้นที่ส่วนกลาง 

          ด้าน ผศ.ดร.รวิน ระวิวงศ์ ผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) กล่าวว่า ทั้งสองหน่วยงานจะร่วมกันใช้ทรัพยากรและความสามารถในการดำเนินการตามภารกิจหลักของทั้งสององค์กรให้เกิดประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุด และจะร่วมกันพัฒนาบุคลากรของหน่วยงานทั้งสอง ด้านการศึกษาวิจัย การพัฒนากิจกรรม การจัดการแหล่งเรียนรู้ การถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม การสนับสนุนและส่งเสริมการจัดกิจกรรมและนิทรรศการ ซึ่งการดำเนินการตามบันทึกข้อตกลงนี้จะกระทำโดยวิธีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ให้ความช่วยเหลือด้านวิชาการ ตลอดจนบุคลากรระหว่างหน่วยงานทั้งสองจะร่วมสนับสนุนการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ และสร้างความตระหนักรู้ในด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม รวมทั้งสาขาอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยโครงการจัตุรัสวิทยาศาสตร์ภูมิภาค ถือเป็นโครงการสำคัญที่จะช่วยสร้างโอกาสที่เท่าเทียมกันในการเข้าถึงแหล่งเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี นวัตกรรมและดาราศาสตร์ ซึ่งปัจจุบันมีพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ตั้งอยู่ในจังหวัดปทุมธานี และมีพื้นที่ให้บริการในเขตกรุงเทพมหานคร คือ จัตุรัสวิทยาศาสตร์ อพวช. ณ จามจุรีสแควร์ สามย่าน เพียงแห่งเดียว ดังนั้น จึงมีความจำเป็นต้องขยายพื้นที่การให้บริการ เพื่อให้เยาวชนมีพื้นที่สำหรับการเรียนรู้ การร่วมกิจกรรมด้านวิทยาศาสตร์  เทคโนโลยีและนวัตกรรม  การนำความคิดริเริ่มสร้างสรรค์มาสร้างเป็นนวัตกรรมในระดับต่าง ๆ ตลอดจนการเรียนรู้และเตรียมตัวเกี่ยวกับการประกอบอาชีพใหม่ๆ ที่ต้องใช้พื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ โดยเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาทาง อพวช. ได้ร่วมมือกับสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) จัดตั้ง จัตุรัสวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ ที่อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อกระจายโอกาสการเรียนรู้ให้กับเยาวชนและประชาชนในภาคเหนือ และสำหรับครั้งนี้ ได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี จัดตั้งโครงการจัตุรัสวิทยาศาสตร์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือขึ้นมาอีกแห่งหนึ่ง ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งจะเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ที่สำคัญแห่งใหม่ของเยาวชนและประชาชนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คาดว่าจะเปิดดำเนินการได้ในต้นปี 2562  ผศ.ดร.รวิน กล่าวในที่สุด

 
กรอกอีเมลเพื่อติดตามข่าวสาร