th th
en

13 มีนาคม 2561 / ทำเนียบรัฐบาล -- กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดย องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) เข้าร่วมเครือข่ายความร่วมมือของภาครัฐ เอกชน เครือข่ายภาคประชาสังคมและแหล่งเรียนรู้ในชุมชน ทั่วประเทศ จัดกิจกรรม “ปิดเทอมสร้างสรรค์” (เปิด) หน้าต่างสู่การเรียนรู้ ดำเนินงานโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดกิจกรรมพิเศษ อาทิ เปิดตัวนิทรรศการ “Spy : Code Breaker” กิจกรรม “ปฎิทินจันทรคติไทย 200 ปี” กิจกรรม “enjoy maker space” เรื่อง ปะติดปะต่อข้อต่อของฉัน เน้นการเรียนรู้แบบสเต็มศึกษา รองรับเยาวชนที่จะเข้ามาใช้บริการในช่วงปิดเทอม ทั้ง 3 พิพิธภัณฑ์ ได้แก่ พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา และพิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีสารสนเทศ ที่ตั้งอยู่ ต.คลองห้า อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี และแหล่งเรียนรู้ใจกลางเมือง จัตุรัสวิทยาศาสตร์ อพวช. ซึ่งตั้งอยู่ ชั้น 4 อาคารจัตุรัสจามจุรี สามย่าน กรุงเทพฯ

 MG 8978 800x533

        ดร.อภิญาณ์ หทัยธรรม รองผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) กล่าวว่า อพวช. มีภารกิจในการสร้างความตระหนักด้านวิทยาศาสตร์แก่สังคมไทย โดยบริการแหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิตในรูปแบบพิพิธภัณฑ์ ที่ผู้เข้าชมสามารถมาเรียนรู้และค้นหาคำตอบได้ด้วยตนเอง ได้แก่ พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ ซึ่งจัดแสดงนิทรรศการด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่ชวนค้นพบ ทดลอง และเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา ที่เป็นทั้งศูนย์วิจัย ศูนย์ข้อมูลอ้างอิงวัสดุตัวอย่างทางด้านความหลากหลายทางชีวภาพของไทย ตลอดจนจัดแสดงนิทรรศการประวัติศาสตร์ทางธรรมชาติวิทยา และพิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีสารสนเทศ แหล่งเรียนรู้เทคโนโลยีการสื่อสาร การคำนวณ และคอมพิวเตอร์ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีหลักของการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศที่นำโลกเข้าสู่ยุคแห่งการสื่อสารที่ไร้พรมแดน ที่ตั้งอยู่ ต.คลองห้า อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี และจัตุรัสวิทยาศาสตร์ อพวช. ศูนย์รวมกิจกรรมด้านวิทยาศาสตร์ ที่ให้ความรู้ ประสบการณ์ สร้างจินตนาการ แรงบันดาลใจให้กับเด็ก เยาวชน รวมทั้งเป็นทางเลือกให้ประชาชนในเขตกรุงเทพมหานคร สามารถใช้เวลาพักผ่อนหย่อนใจ อย่างมีคุณภาพ และเรียนรู้วิทยาศาสตร์อย่างสนุกสนาน ซึ่งตั้งอยู่ ชั้น 4 อาคารจัตุรัสจามจุรี สามย่าน กรุงเทพฯ

 MG 8998 800x533

        สำหรับในช่วงปิดเทอมนี้ อพวช. ยังได้เข้าร่วมกิจกรรม “ปิดเทอมสร้างสรรค์” (เปิด) หน้าต่างสู่การเรียนรู้ ที่จัดโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ด้วยการนำตัวอย่างกิจกรรมบางส่วนจัดแสดงให้กับ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ทำเนียบรัฐบาล อาทิ ค่าย “นักประดิษฐ์พิชิตมหันตภัย” และ “นักประดิษฐ์ของเล่นภูมิปัญญาไทย” กิจกรรม enjoy science maker space ที่เน้นให้เยาวชนได้ลงมือทำ ออกแบบและสร้างสรรค์ผลงานจากจินตนาการด้วยตนเองปลูกฝังความเป็นนักประดิษฐ์ หรือที่เราเรียกกันว่า Maker ให้กับเยาวชน ในรูปแบบสะเต็มศึกษา กิจกรรม ปฏิทินจันทรคติไทย 200 ปี ฝึกใช้ปฏิทินจันทรคติไทย 200 ปี และสามารถใช้ปฏิทินจันทรคติในการบอก วันข้างขึ้น-ข้างแรม เรียนรู้การสังเกตดวงจันทร์บนท้องฟ้า และเข้าใจการกำหนดวันปฏิทินแบบไทย กิจกรรม แผนที่ดาว ศึกษาการเคลื่อนที่ของท้องฟ้าการขึ้น และตกของดวงดาว ฝึกการสังเกตและรู้จักกลุ่มดาวเด่นและการบอกทิศทาง กิจกรรมเกี่ยวกับเทคโนโลยีสารสนเทศ อาทิ IT LAB กิจกรรมที่เด็ก ๆ จะได้เรียนรู้และสนุกสนาน ไปกับการทดลองควบคุมหุ่นยนต์ด้วยตนเอง IT walk rally ตะลุยพิพิธภัณฑ์เพื่อค้นหาคำตอบที่ซ่อนอยู่ในนิทรรศการด้านคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ IT Workshop Activity เรียน รู้ เล่น อย่างเป็นระบบ กับกิจกรรมที่ส่งเสริมทักษะ ความรู้ ด้านเทคโนโลยีการสื่อสาร และเปิดโอกาสให้ได้เรียนรู้ ลงมือปฏิบัติด้วยตนเอง ภายใต้คำแนะนำของวิทยากร ชมตัวอย่างสัตว์สตัฟฟ์ ด้วยเทคนิคระดับสากลเพื่อการจัดแสดงให้มีอิริยาบถการเคลื่อนไหวตามธรรมชาติ คล้ายมีชีวิต (Modern Technique on Taxidermy for Displaying) พร้อมเปิดตัวนิทรรศการชุดใหม่ล่าสุด Spy : Code Breaker เรียนรู้บทบาท หน้าที่ และความสำคัญของสายลับ ที่มีส่วนเกี่ยวพันกับเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์โลกสร้างความรู้ ความเข้าใจด้านวิทยาการรหัส (Cryptography) ที่ครอบคลุมทั้งการสร้างชุดรหัสลับเพื่อเก็บรักษาและถ่ายทอดข้อมูลที่เป็นความลับ และการถอดรหัสเพื่อให้ได้มาซึ่งความลับของฝ่ายศัตรู รวมทั้งพัฒนาการของเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับรหัสตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน โดยสวมบทบาทเป็นสายลับ จัดแสดงที่ พิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีสารสนเทศ และร่วมเรียนรู้ไปกับนิทรรศการที่มองไม่เห็น “บทเรียนในความมืด : Dialogue in the Dark” นิทรรศการจากประเทศเยอรมนี นิทรรศการที่สร้างความตระหนักถึงความสำคัญของประสาทสัมผัสส่วนอื่นๆ นอกเหนือจากการมองเห็น และเปิดโอกาสให้ผู้พิการทางสายตาได้แสดงศักยภาพที่มีอยู่อย่างมีคุณค่า จัดแสดงที่จัตุรัสวิทยาศาสตร์ อพวช. ชั้น 4 อาคารจัตุรัสจามจุรี สามย่าน กรุงเทพ

        สำหรับผู้สนใจเข้าร่วมกิจกรรม สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ 0 2577 9999 ต่อ 2122, 2123 เว็บไซต์ www.nsm.or.th เฟซบุ๊ก www.facebook.com/NSMthailand

 
กรอกอีเมลเพื่อติดตามข่าวสาร