จังหวัดขอนแก่น 16 กรกฎาคม 2561–กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ชวนเยาวชนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สัมผัสโลกไดโนเสาร์ เปิดพื้นที่การเรียนรู้ไดโนเสาร์ในประเทศไทย อัดแน่นความรู้และสวมบทบาทเป็นนักบรรพชีวิน ในงานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ระดับภูมิภาค ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดขอนแก่น
ผศ.ดร.รวิน ระวิวงศ์ ผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) หน่วยงานหลักในการจัดงานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ระดับภูมิภาค ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า งานมหกรรมวิทย์ฯ ภูมิภาค จ.ขอนแก่นครั้งนี้ นอกจากนิทรรศการและกิจกรรมการเรียนรู้ที่ทาง อพวช.ได้ดำเนินการนำมาจัดแสดงอย่างหลากหลายแล้ว ยังมีหน่วยงานร่วมจัดที่ได้นำความรู้มาสู่เยาวชนในจังหวัดขอนก่นและจังหวัดใกล้เคียงในภูมิภาคอีกหลายหน่วยงาน ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ พิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ภูเวียง ที่ได้สร้างความตื่นเต้นและสนุกสนานให้แก่น้อง ๆ เยาวชนและประชาชนผู้มาร่วมงานเป็นอย่างมาก โดยเยาวชนจะได้เรียนรู้อีกหนึ่งศาสตร์สำคัญนั่นคือเรื่องธรณีวิทยาในประเทศไทย รวมถึงเรื่องราวของการขุดค้นฟอสซิลซากไดโนเสาร์ของจริง ซึ่งเป็นกิจกรรมที่เยาวชนได้ลงมือทำและให้ความสนใจมากเช่นกัน ด้าน น.ส.กมลลักษณ์ วงษ์โก นักธรณีวิทยาชำนาญการ ศูนย์ศึกษาวิจัยและพิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ สำนักงานทรัพยากรธรณีเขต 2 (ขอนแก่น) กรมทรัพยากรธรณี กล่าวว่า เนื่องจากธรณีวิทยาคือ 1 ใน 5 ของ science pure ซึ่งประกอบไปด้วยคณิตศาสตร์ เคมี ฟิสิกส์ ชีววิทยาและธรณีวิทยาที่คนทั่วไปมักไม่ค่อยรู้จักว่าธรณีวิทยาคือวิทยาศาสตร์แขนงหนึ่งที่เป็นมากกว่าความรู้เรื่องหินแร่และยังเกี่ยวข้องกับเรื่องของซากดึกดำบรรพ์ ซึ่งจะได้เห็นวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตนั้นๆ ที่สูญพันธ์ไปแล้ว โดยมีกระบวนการตั้งแต่ ขุดยังไง ขุดค้นเสร็จต้องนำมาเข้าห้องแล็ป เพื่อการอนุรักษ์ ซ่อมแซมตัวอย่างกระดูกให้เป็นชิ้นจริง จากนั้นต้องลองนำชิ้นกระดูกนั้นๆ มาประกอบกันขึ้นเป็นโครงชิ้นกระดูกและนำไปสู่การ reconstruct คือการให้เนื้อหนังกับโครงสร้างกระดูก แล้วขึ้นรูปร่างลักษณะด้วยหลักวิทยาศาสตร์ไม่ใช่จินตนาการโดยไร้เหตุผล โดยในครั้งนี้พิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ภูเวียง ได้จัดแสดงไดโนเสาร์จำลองและโครงสร้างกระดูกของไดโนเสาร์สายพันธุ์ที่ค้นพบใหม่ ซึ่งเหตุผลสำคัญที่ทำให้ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นภูมิภาคที่มีซากฟอสซิลไดโนเสาร์อยู่จำนวนมากนั้น เพราะชั้นหินส่วนใหญ่เป็นชั้นหินที่อยู่มีอายุระหว่าง 210 ล้านปีถึง 100 ล้านปี ถือเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่ไดโนเสาร์มีชีวิตอยู่คือช่วง 240 ล้านปี ถึง 65 ล้านปี ซึ่งส่วนใหญ่ชั้นหินประเภทนี้จะปกคลุมอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
นอกจากนี้ภายในบูธของพิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ภูเวียง ยังจัดแสดงความรู้เรื่องไดโนเสาร์ชนิดใหม่ในประเทศไทย 9 สายพันธุ์จากทั้งหมดที่ค้นพบ 21 สายพันธุ์ คือ การค้นพบที่ อ.ภูเวียง จ.ขอนแก่น 4 สายพันธุ์ คือ ภูเวียงโกซอรัส สิรินธรเน (Phuwiangosaurus sirindhornae) ไดโนเสาร์ซอโรพอด ชนิดแรกของไทย พบที่ จ.ขอนแก่น ซึ่งได้รับการตั้งชื่อเพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สยามโมซอรัส สุธีธรนิ (Siamosaurus suteethorni) ไดโนเสาร์กินเนื้อขนาดใหญ่ สยามโมไทรันนัส อิสานเอนซิส (Siamotyrannus isanensis) ไดโนเสาร์วงศ์ไทรันโนซอริเดที่เก่าแก่ที่สุด และกินรีมิมัส ขอนแก่นเอนซิส (Kinnareemimus Khonkaenensis) ไดโนเสาร์นกกระจอกเทศ การค้นพบที่ จ.นครราชสีมามี 3 สายพันธุ์ สยามโมดอน นิ่มงามมิ (Siamodon nimngami) ไดโนเสาร์ออร์นิโธพอดสกุลใหม่ ชนิดใหม่ของโลกจากประเทศไทย ราชสีมาซอรัส สุรนารีเอ (Rachasimasaurus suranareae) ไดโนเสาร์อิกัวโนดอนต์อีกหนึ่งชนิดและสิรินธรน่า โคราชเอนซิส (SIRINTHORNA KHORATENSIS) และการค้นพบที่ จ.ชัยภูมิ 2 สายพันธุ์ คือ อีสานโนซอรัส อรรถวิภัชน์ชิ (Isanosaurus attavipatchi) ไดโนเสาร์กินพืชคอยาวที่มีลักษณะโบราณที่สุดเท่าที่เคยพบและ ซิตตะโกซิรัส สัตยารักษ์กิ (Psittacesaurus sattayaraki) ไดโนเสาร์ปากนกแก้ว ถือว่าเป็นจังหวัดที่มีชัยภูมิที่ดี เพราะได้ค้นพบฟอสซิสเก่าแก่ที่สุดจนถึงอ่อนที่สุด แสดงว่าที่นี่จะต้องมีไดโนเสาร์ตั้งแต่ 210 ล้านปี และใน 100 ล้านปี หรือว่าใน 150 ล้านปีช่วงระหว่างนั้นจะต้องมีฟอสซิลอีกแน่นอน ซึ่งเป็นสิ่งที่จะต้องค้นหาต่อไป
สำหรับน้อง ๆ เยาวชนสามารถสัมผัสกับการเป็นนักบรรพชีวินในกิจกรรมการอนุรักษ์และขุดค้นซากฟอสซิลไดโนเสาร์ของจริงได้ ซึ่งจะทำให้ได้เรียนรู้ว่าหินกับกระดูกแตกต่างกันด้วยลักษณะอย่างไรทั้งทางกายภาพหรือทางเคมี พบกับกิจกรรมนี้ได้ในงานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ระดับภูมิภาค ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดขอนแก่น ตั้งแต่วันนี้ - 17 กรกฎาคม 2561 ตั้งแต่เวลา 08.-30 - 19.00 น. ณ ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติขอนแก่น KICE สามารถเข้าชมงานได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใด ๆ สนใจติดตามข้อมูลข่าวสารได้ที่ www.nsm.or.th และ FACEBOOK : มหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ หรือ จองเข้าชมเป็นหมู่คณะ หรือ สอบถามที่องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) โทรศัพท์ 02 577 9960