th th
en

25 กรกฎาคม 2560 – ปทุมธานี / เด็กไทยสร้างชื่อ คว้า 3 เหรียญทอง 4 เหรียญเงิน และ 1 เหรียญทองแดง จากการประกวดโครงงานด้านธรรมชาติวิทยาบนเวที Global Natural History Day 2017 ซึ่งมีเยาวชนเข้าร่วมแข่งขันถึง 220 คน จาก 10 ประเทศ ได้แก่ ประเทศไทย ลาว กัมพูชา พม่า เวียดนาม มาเลเซีย แอฟริกาใต้ แทนซาเนีย สหรัฐอเมริกา และจีน เมื่อวันที่ 19 - 25 กรกฎาคม 2560 ที่ผ่านมา ณ เมืองฉงชิ่ง ประเทศจีน

DSC 0740 1761x2400

นายชนินทร วรรณวิจิตร ผู้อำนวยการสำนักโครงการพิเศษ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) กล่าวว่า “การนำเยาวชนเข้าร่วมประกวดโครงงานด้านธรรมชาติวิทยาระดับนานาชาติ Global Natural History Day 2017 โดยความร่วมมือระหว่าง กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดย อพวช. และมูลนิธิ Global Health & Education Foundation ระหว่างวันที่ 19 - 25 กรกฎาคม 2560 ณ เมืองฉงชิ่ง ประเทศจีน โดยมีเยาวชนเดินทางเข้าร่วมประกวดโครงงาน 8 ทีม ผลปรากฏว่าเยาวชนไทยสามารถคว้ารางวัลเหรียญทองมาได้ทั้งสิ้น 3 เหรียญทอง จากทีมโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย 2 โครงงาน ได้แก่ โครงงาน “จากโลกของจุลินทรีย์ สู่โลกของปลวก เพื่อโลกของเรา” (From the world of microbes, to the world of termites, for the world of humankind) เป็นผลงานของ ด.ช.ศิวกร ชาญชโลธร และ ด.ช.วศิน เธียรวุฒิ และโครงงาน “โลกปลาตีนคือโลกของเรา” (The world of Mudskipper represents the World of Humankind) ของ ด.ช.พิวัฒน์ ศุภวิทยา และ ด.ช.ทัศณ์พล คุณวุฒิพร และอีกหนึ่งทีมจากโรงเรียนสีคิ้วสวัสดิ์ผดุงวิทยา ในโครงงาน “การเพิ่มประสิทธิภาพการปลูกป่าโดยใช้หยวกกล้วย” ของ ด.ญ.พรปวีย์ เหมิกจันทึก และ ด.ญ ภัทรภรณ์ ภูวนา

          ทั้งนี้ เยาวชนไทยยังคว้ามาได้อีก 4 เหรียญเงิน ได้แก่ 1.ทีมโรงเรียนวารีเชียงใหม่ ในโครงงาน “Dragonfly fly to the world” ของ ด.ญ.ณัฐฎณิชา วิจิตตปัญญารักษ์ ด.ญ. อาทิตยา ชิลด์ นางฉวีวรรณ อ้นโสภา 2.ทีมโรงเรียนสงวนหญิง ในโครงงาน “ไขความลับปริศนาธรรมชาติจากรอยแตกระแหงของดิน” ด.ญ ผลิดา ยงพิศาลภพ ด.ญ.อารียา เตียววิไล และนายเจษฎา เนตรสว่างวิชา 3.ทีมโรงเรียนศรีสวัสดิ์วิทยาคาร จังหวัดน่าน ในโครงงาน “การศึกษาพฤติกรรมของหญ้าเข็มนาฬิกา” ของ ด.ช.วิทวัส แก้วสี ด.ญ. ธัญชนก เตชะนันท์ และนายมนตรี นันตา 4.ทีมจากราษีไศล ในโครงงาน “รังไข่มดแดง : ห้องครัวแห่งธรรมชาติ” ของ ด.ช แสงเพชร บุญเกิด ด.ญ. ธารารัตน์ แสงแก้ว และนายศกร พรหมทา

          และอีก 1 เหรียญทองแดง จากทีมโรงเรียนหางดงรัฐราษฎร์อุปถัมภ์ กับ “โครงงานการศึกษาพัฒนาของเมล็ดดาวกระจายไต้หวันที่ส่งผลต่อการแพร่กระจายตัวของเมล็ด” ของ ด.ญ.สุวิมล รัตนกานต์กุล ด.ช.สิทธิพงค์ คำหมั้น


“เป็นเรื่องที่น่ายินดีอย่างยิ่งที่เยาวชนไทยจำนวน 8 ทีมที่เราส่งประกวดในครั้งนี้ สามารถคว้ารางวัลกลับมาให้ คนไทยได้ชื่นชมทุกทีม แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของเยาวชนไทยในเวทีระดับนานาชาติ ซึ่งรางวัลเหล่านี้จะเป็นแรงบันดาลใจให้เยาวชนอีกจำนวนมากอยากก้าวเข้ามาเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์มากยิ่งขึ้น ขอขอบคุณเยาวชนทุกคนและครูผู้คุมทีมที่ทุ่มเทแรงกายแรงใจในการสร้างชื่อให้กับประเทศในครั้งนี้” นายชนินทรฯ กล่าว

001 800x600

 ทางด้าน ด.ช.ศิวกร ชาญชโลธร หนึ่งในเยาวชนที่คว้าเหรียญทอง ได้เปิดเผยว่า “รู้สึกดีใจที่ได้สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทย และได้กล่าวถึง “โครงงานจากโลกของจุลินทรีย์ สู่โลกของปลวก เพื่อโลกของเรา” (From the world of microbes, to the world of termites, for the world of humankind) ว่าเป็นโครงงานที่แสดงถึงความสัมพันธ์ระหว่างจุลินทรีย์กับโลก โดยการนำจุลินทรีย์จากจอมและจาวปลวกไปช่วยเพิ่มธาตุอาหารในดิน โดยการย่อยสลายอินทรียสารที่ยากต่อการย่อยสลายตามธรรมชาติ เช่น เซลลูโลส ซึ่งเป็นองค์ประกอบหลักของขยะชีวภาพต่าง ๆ เช่น ตอซังข้าว อีกทั้งยังช่วยแก้ปัญหาภาวะโลกร้อนซึ่งมีสาเหตุมาจากการเผาตอซังข้าว ซึ่งจากการศึกษาได้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งมีชีวิตในแต่ละระดับของธรรมชาติมาใช้เพื่อแก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม"

002 800x600

  ส่วน ด.ช.พิวัฒน์ ศุภวิทยา หนึ่งในทีมของผลงาน “โครงงาน โลกปลาตีนคือโลกของเรา” (The world of Mudskipper represents the World of Humankind) กล่าวว่า “โครงงานนี้ศึกษาวิถีชีวิตปลาตีนตัวบ่งชี้ความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศป่าชายเลนเพื่อสร้างความตระหนักในการอนุรักษ์ป่าชายเลนอย่างยั่งยืน การที่เราศึกษาเกี่ยวกับโลกขนาดเล็ก ๆ ของ ปลาตีน นอกจากจะสามารถสะท้อนความอุดมสมบูรณ์ ความสัมพันธ์เชิงสายใยอาหาร ปัญหาการถูกทำลายของป่าชายเลน ปัญหาน้ำกัดเซาะชายฝั่ง และปัญหาสภาวะโลกร้อน เรายังสามารถนำปัญาหาที่ได้จากการศึกษาไปเปรียบเทียบเพื่อสะท้อนปัญหาระดับโลกของเราได้”

003 800x600

และ ด.ญพรปวีย์ เหมิกจันทึก หนึ่งในเจ้าของโครงงาน “การเพิ่มประสิทธิภาพการปลูกป่าโดยใช้หยวกกล้วย” จากทีมโรงเรียนสีคิ้วสวัสดิ์ผดุงวิทยา ได้กล่าวถึงผลงานที่คว้าเหรียญทองว่า “โครงงานนี้เกิดจากการได้มีโอกาสเข้าร่วมโครงการปลูกป่าตามโครงการปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติ ที่ต้องเข้าไปปลูกป่าในพื้นที่ห่างไกลจากชุมชน ซึ่งเป็นพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมไม่สามารถใช้ประกอบอาชีพทางการเกษตรได้ ประกอบกับเป็นพื้นที่แห้งแล้งไม่มีแหล่งน้ำ และในบางครั้งเกิดภาวะฝนทิ้งช่วง ต้นไม้อาจจะตาย จึงเกิดความคิดที่จะนำต้นกล้วยมาเพิ่มประสิทธิภาพในการปลูกป่าได้ โดยนำหยวกกล้วยที่มีอยู่ทั่วไปเป็นวัสดุสำหรับการอนุบาลกล้าไม้ ทำให้กล้าไม้เติบใหญ่เป็นต้นไม้และป่าไม้ได้ โดยไม่จำเป็นต้องเข้าไปดูแลรักษา และหวังว่าโครงงานนี้จะช่วยสร้างความตระหนักด้านการอนุรักษ์และเห็นความสำคัญของป่าไม้มากยิ่งขึ้น”


          นอกจากนี้ยังมีทีมเยาวชนไทยอีกจำนวน 10 ทีม เข้าร่วมประกวดโครงงานดังกล่าว ผลปรากฏว่า คว้ามาได้อีก 5 เหรียญทอง และ 5 เหรียญทองแดง ซึ่งทีมที่ได้เหรียญทองมีดังนี้ โรงเรียนจิตรลดา 2 เหรียญทอง โดย ทีม 1. ด.ช.ไกรวิน เกษร และ ด.ญ.ศิรกาญจน์ บูรณวิทยานน์ และทีม 2. ด.ญ.พรลาภิณ สวัสดิบุตร และ ด.ญ.เพียงขวัญ เอี่ยมโอภาส โรงเรียนวารีเชียงใหม่ จำนวน 2 เหรียญทอง จากทีม 1. ด.ญ. ฐิติวรดา กาวิชัย และ ด.ช.ฬูค่า ชนกันต์ บอนด์ ทีม 2. ด.ญ.อธิษฐาน เกรียงไกรศักดิ์ และ ด.ญ.ซือหธิง อึ้ง โรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย มุกดาหาร 1 เหรียญทอง โดย ด.ช. ปุณกฤษ วงค์พนิตกฤต และ ด.ญ.นิธิชา แสงประจักษ์ 

          และ 5 เหรียญทองแดง ดังนี้ โรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย ปทุมธานี 4 เหรียญทองแดง ประกอบด้วย ทีม 1. ด.ญ.ดวงพร ธัญญะโสภาคย์ และ ด.ญ.นิชานันท์ ล้ำวิริยะพันธ์ ทีม 2. ด.ช.ปัณณ์ เลิศจตุรภัทร และ ด.ญ.เก็จมณี พิมพ์วิจิตร ทีม 3. ด.ญ.ดลพร วัลลานนท์ และ ด.ญ. มาณวี สุขแสงพนมรุ้ง ทีม 4. ด.ช. ปวริศร์ เปี่ยมปรีชา และด.ช. ชนาธิป พรมพันธ์ใจ และ 1 เหรีญญทองแดงจาก โรงเรียนวารีเชียงใหม่ โดย ด.ญ. นีน่า ธีระศุภเสฐ และ ด.ญ.อภัสสรา เกล คัลลาเฮน

 

 
กรอกอีเมลเพื่อติดตามข่าวสาร