โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัยคว้ารางวัลชนะเลิศอันดับ 1 กับโครงงาน จากโลกของจุลินทรีย์ สู่โลกของปลวก เพื่อโลกของเรา (From the world of microbes, to the world of termites, for the world of humankind) ในการประกวดโครงงาน Global Natural History Day 2017 – Thailand final ภายใต้หัวข้อ Scale of Nature : From Micro to Macro อพวช. เตรียมส่งเป็นตัวแทนประเทศไทยร่วมการแข่งขันในระดับนานาชาติ ณ เมืองฉงชิ่ง ประเทศจีน วันที่ 19 -25 กรกฎาคม 2560
ประกาศผลเป็นที่เรียบร้อย สำหรับ โครงงาน Global Natural History Day 2017 (GNHD) – Thailand final ภายใต้หัวข้อ Scale of Nature : From Micro to Macro เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน ที่ผ่านมา โดยทีมผู้ชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย โดย ด.ช.ศิวกร ชาญชโลธร ด.ช.วศิน เธียรวุฒิ และ นายชนันท์ เกียรติสิริสาสน์ ภายใต้โครงงานเรื่อง จากโลกของจุลินทรีย์ สู่โลกของปลวก เพื่อโลกของเรา (From the world of microbes, to the world of termites, for the world of humankind) ซึ่งเป็นโครงงานที่แสดงถึงความสัมพันธ์ระหว่างจุลินทรีย์กับโลก โดยการนำจุลินทรีย์จากจอมและจาวปลวกไปช่วยเพิ่มธาตุอาหารในดิน โดยการย่อยสลายอินทรียสารที่ยากต่อการย่อยสลายตามธรรมชาติ เช่น เซลลูโลส ซึ่งเป็นองค์ประกอบหลักของขยะชีวภาพต่าง ๆ เช่น ตอซังข้าว อีกทั้งยังช่วยแก้ปัญหาภาวะโลกร้อนซึ่งมีสาเหตุมาจากการเผาตอซังข้าว
สำหรับรองชนะเลิศอันดับ 1 ตกเป็นของ โรงเรียนวารีเชียงใหม่ สมาชิกทีมได้แก่ ด.ญ.ณัฏฐณิชา วิจิตตปัญญารักษ์ ด.ญ.อาทิตยา ชิลด์ และ นางฉวีวรรณ อ้นโสภา ชื่อโครงงาน Dragonfly fly to the world บอกถึงประโยชน์ของการเลี้ยงแมลงปอซึ่งเป็นโครงงานที่ศึกษาเกี่ยวกับชีวิตแมลงปอกับการสร้างประโยชน์ในการช่วยกำจัดศัตรูพืชแบบวิถีธรรมชาติ รวมถึงการกำจัดยุงและลูกน้ำ และรองชนะเลิศอันดับ 2 ตกเป็นของโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย สมาชิกทีมได้แก่ด.ช.พิวัฒน์ ศุภวิทยา ด.ช.ทัศณ์พล คุณวุฒิพร และ น.ส.วนิดา ภู่เอี่ยม ชื่อโครงงาน โลกปลาตีนคือโลกของเรา (The world of Mudskipper represents the World of Humankind) ศึกษาวิถีชีวิตปลาตีนตัวบ่งชี้ความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศป่าชายเลนเพื่อสร้างความตระหนักการอนุรักษ์ป่าชายเลน
นอกจากนี้ยังมีรางวัลชมเชย 5 รางวัล ได้แก่ โรงเรียนสงวนหญิง ชื่อโครงงาน ไขความลับปริศนาธรรมชาติจากรอยแตกระแหงของดิน โรงเรียนราษีไศล ชื่อโครงงาน รังไข่มดแดง ห้องครัวแห่งธรรมชาติ (การศึกษาพฤติกรรมการทำรังของมดแดงสู่การทำรังเทียม) โรงเรียนสีคิ้วสวัสดิ์ผดุงวิทยา ชื่อโครงงาน การเพิ่มประสิทธิภาพการปลูกป่าโดยใช้หยวกกล้วย โรงเรียนศรีสวัสดิ์วิทยาคารจังหวัดน่าน ชื่อโครงงาน การศึกษาพฤติกรรมของหญ้าเข็มนาฬิกา และโรงเรียนหางดงรัฐราษฎร์อุปถัมภ์ ชื่อโครงงาน การศึกษาการพัฒนาของเมล็ดดาวกระจายไต้หวันที่ส่งผลต่อการแพร่กระจายตัวของเมล็ด
นายชนินทร วรรณวิจิตร ผู้อำนวยการสำนักโครงการพิเศษ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) กล่าวทิ้งท้ายว่า “ขอแสดงความยินดีกับเยาวชนที่ได้รับรางวัลทุกคน การที่ทุกทีมได้เข้าร่วมการประกวดในครั้งนี้ถือว่าทุกทีมนั้นเป็นผู้ชนะอยู่แล้ว เพราะชนะความตั้งใจและการร่วมใจกันในทีมของตนได้ ลองผิด ลองถูก ทำการทดลอง วิเคราะห์ข้อมมูลมามากมาย กว่าจะมาเป็นโครงงานเพื่อนำเสนอในการประกวดในครั้งนี้ ขอให้ทุกคนเก็บเกี่ยวประสบการณ์ระหว่างการประกวดเพื่อพัฒนาตนเองให้เป็นนักวิทยาศาสตร์ที่ดีต่อไปในอนาคต”