สัมมนาเชิงปฏิบัติการ ‘การศึกษาด้านอวกาศและเทคโนโลยีอวกาศ’ (Space Education for Educators) สิ้นสุดลงแล้ว โดยมีองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) และสำนักพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) (สทอภ.) ในสังกัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมมือกับองค์การวิจัยและพัฒนาการสำรวจอวกาศประเทศญี่ปุ่น (Space Education Center , Japan Aerospace Exploration Agency (JAXA)) เพื่อสร้างแรงบันดาลใจและต่อยอดความรู้การศึกษาด้านอวกาศและเทคโนโลยีอวกาศ
นางกรรณิการ์ เฉิน ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาความตระหนักด้านวิทยาศาสตร์ อพวช. กล่าวว่า “อพวช. มีการสนับสนุนส่งเสริมความตระหนักด้านวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะการเรียนรู้แบบสะเต็มศึกษาผ่านกิจกรรมต่าง ๆ อย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด แต่ยังมีส่วนน้อยที่รู้จักและเข้าถึงการศึกษาด้านอวกาศและเทคโนโลยีอวกาศ จึงร่วมมือกับ สทอภ. และ JAXA จัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการ ในหัวข้อ ‘การศึกษาด้านอวกาศและเทคโนโลยีอวกาศ ’ (Space Education for Educators) ขึ้น เมื่อวันที่ 17 – 18 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ณ อาคารสำนักงาน อพวช. ต.คลองห้า อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี เพื่อพัฒนาศักยภาพและสนับสนุนการศึกษาด้านเทคโนโลยีอวกาศในประเทศไทย” โดยการสัมมนาครั้งนี้ได้รับเกียรติจาก Dr. NoZomu Sakuraba , Director of Space Education , Japan Aerospace Exploration Agency (JAXA) และ Mr.Hajime Onga , First Secretary of The Embassy of Japan in Thailand ผู้มีชื่อเสียงด้านเทคโนโลยีอวกาศ จากประเทศญี่ปุ่นมาให้ความรู้ในการสัมมนาครั้งนี้อีกด้วย
Dr.NoZomu Sakuraba เริ่มการบรรยายเรื่อง ‘New Lessons in Space Science and Technology : Letting Space Inspire the New Generation’ และ ‘Space Education Center : How We Support Educators and Mentors’ โดยเนื้อหาการบรรยายเป็นความรู้ใหม่เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในงานด้านเทคโนโลยีอวกาศ รวมไปถึงความสำคัญของหน่วยสนับสนุนภาคพื้นดินทั้งในรูปแบบของประชากรและเทคโนโลยี พร้อมกันนี้ผู้เข้าร่วมสัมมนายังได้ทำกิจกรรม ‘JAXA Space Education Center’s Hands-on Activities : Space School for Families’ คือ กิจกรรม ‘บอลลูนอากาศร้อน’ (Hot Air Balloon) จำลองการทำบอลลูนขนาดเล็ก และการบรรยายจาก สำนักพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) (สทอภ.) เรื่อง Satellite remote sensing and geo-informatics in Thailand โดย ดร.นรุตม์ สุนทรานนท์ ผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ สำหรับการสัมมนาในครั้งนี้มีผู้เข้าร่วมกว่า 60 คน เป็น คณาจารย์จากโรงเรียน , มหาวิทยาลัย และ บุคลากรจากศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา