พะเยา/12 มกราคม 2560--องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) สังกัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ขานรับนโยบายรัฐ ในการบรูณาการข้ามหน่วยงาน จับมือจังหวัดพะเยา นำคาราวานวิทยาศาสตร์ อพวช. ลงพื้นที่ชุมชนตำบลฝายกวาง เพื่อร่วมจัดงาน “เปิดโลกวิทยาศาสตร์ สร้างคนสร้างชาติสู่สากล” 12 - 14 มกราคม 2560 ณ โรงเรียนฝายกวางวิทยาคม จังหวัดพะเยา
นางอภิญาณ์ หทัยธรรม รองผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ กล่าวว่า อพวช. มีภารกิจในการสร้างความรู้ ความเข้าใจ และความตระหนักทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) สู่สังคม โดยการให้บริการแหล่งเรียนรู้ในรูปแบบพิพิธภัณฑ์ ได้แก่ พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา พิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีสารสนเทศ ซึ่งตั้งอยู่ที่คลองห้า อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี และจัตุรัสวิทยาศาสตร์ ที่อาคารจัตุรัสจามจุรี สามย่าน ใจกลางกรุงเทพฯ อีกทั้งยังได้นำนิทรรศการและกิจกรรมเคลื่อนที่ไปจัดแสดงในรูปแบบ “คาราวานวิทยาศาสตร์” ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ เพื่อขยายโอกาสในการเข้าถึงสื่อการเรียนรู้ของรัฐ และส่งเสริมให้เกิดการนำ วทน. มาใช้ในชีวิตประจำวัน ตลอดจนสร้างแรงบันดาลใจให้เกิดการนำไปพัฒนาต่อยอดสร้างสรรค์สิ่งประดิษฐ์ใหม่หรือนวัตกรรมให้กับประเทศ
ล่าสุด อพวช. ยังได้บูรณาการความร่วมมือข้ามหน่วยงานกับทางจังหวัดพะเยาในการนำคาราวานวิทยาศาสตร์ไปร่วมจัดแสดงในงาน “เปิดโลกการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ สร้างคนสร้างชาติสู่สากล” ระหว่างวันที่ 12 – 14 มกราคม 2560 ณ โรงเรียนฝายกวางวิทยาคม ตำบลฝายกวาง อำเภอฝายกวาง จังหวัดพะเยา ซึ่งเป็นงานใหญ่ที่เกิดจากความร่วมมือและตั้งใจดีของทางจังหวัด องค์กรท้องถิ่น ภาคการศึกษา ภาคเอกชน และคนในชุมชน ที่ต้องการจะส่งเสริมการเรียนรู้และสร้างแรงบันดาลใจด้านวิทยาศาสตร์ให้กับเยาวชนรวมถึงประชาชนในท้องถิ่น ด้วยการจัดแสดงนิทรรศการและกิจกรรมต่าง ๆ โดยคาราวานวิทยาศาสตร์ อพวช. ที่นำมาร่วมในครั้งนี้ประกอบไปด้วย นิทรรศการสื่อสัมผัส ชุด “Puzzling Things” จำนวนกว่า 60 ชิ้น เพื่อเรียนรู้พื้นฐานวิทยาศาสตร์ในเรื่องกลศาสตร์ แม่เหล็กและไฟฟ้า การมองเห็นและประสาทรับรู้ และการแก้ปัญหา นิทรรศการ “Taxidermy…คืนชีวิตให้ซากสัตว์” ซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นถึงเทคนิคสมัยใหม่ระดับสากลในการสตั๊ฟสัตว์ให้ซากสัตว์คงสภาพเหมือนมีชีวิตเพื่อการจัดแสดง เกมส์และของเล่นทางวิทยาศาสตร์ อาทิ เส้นโค้งพิศวง ไก่กระต๊าก แทนแกรม จรวดหลอด กิจกรรมการแสดงทางวิทยาศาสตร์ เรื่องหรรษาอากาศโชว์ ห้องทดลองทางวิทยาศาสตร์ เรื่องค้นฟ้าคว้ารุ้ง กิจกรรมโดมดูดาว เรียนรู้การดูดาวเบื้องต้น รู้จักกลุ่มดาวพื้นฐานที่สำคัญประจำฤดูกาล การใช้แผนที่ดาว ด้วยระบบภาพยนตร์ดาราศาสตร์ 3 มิติแบบ full dome ที่เสมือนกับอยู่ท่ามกลางเหตุการณ์จริง กิจกรรมจรวดขวดน้ำ ประดิษฐ์จรวดจากขวดน้ำโดยใช้หลักการสะเต็มศึกษา การอบรมนักธรรมชาติรุ่นเยาว์ เพื่อปลูกฝั่งการเป็นนักอนุรักษ์ที่รู้จักและเห็นคุณค่าธรรมชาติใกล้ตัว และการอบรม TSUNAGARI Project – Picture Happiness on Earth เพื่อเปิดโอกาสให้เยาวชนได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับโลกของเรา และหาแนวทางการสร้างความสุขในอนาคต ผ่านการนำเสนอในรูปแบบสื่อวีดีทัศน์
นางอภิญาณ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า อพวช. หวังว่ากิจกรรม “คาราวานวิทยาศาสตร์ อพวช.” ที่นำมาจัดแสดงในครั้งนี้จะช่วยการลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงสื่อการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ และเป็นแรงผลักดันให้เด็ก ๆ และเยาวชน เกิดความรัก ใฝ่ที่จะเรียนรู้วิทยาศาสตร์มากขึ้น อันเป็นการปลูกฝังความตระหนักและสร้างรากฐานที่ดีด้านวิทยาศาสตร์ให้กับเยาวชนของไทยต่อไป