th th
en

ประวัติการก่อตั้งพิพิธภัณฑ์

ในวาระมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 5 รอบสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในปี พ.ศ. 2535 รัฐบาลสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ที่ล้นเกล้าฯ ทรงมีต่อพสกนิกรและประเทศชาติโดยเฉพาะทรงเป็นผู้นำในการใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี เพื่อพัฒนาอาชีพและชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมตลอดจนการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมของไทยในท้องถิ่นชนบทที่ห่างไกลมาอย่างต่อเนื่องด้วยความวิริยะ อุตสาหะจนบังเกิดผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมชัดเจน พระราชกรณียกิจของพระองค์ นำไปสู่การตื่นตัวด้านการวิจัยและพัฒนาทางวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีในชีวิตประจำวัน ส่งผลต่อการยกระดับสภาพความเป็นอยู่ของประชาชน และการพัฒนาประเทศอย่างมีประสิทธิภาพคณะรัฐมนตรีในครั้งนั้น จึงได้ดำเนินโครงการ “พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์” เพื่อเฉลิมพระเกียรติ และเริ่มดำเนินการในปี พ.ศ. 2535 ต่อมาในปี พ.ศ. 2538 คณะรัฐมนตรีมีมติให้จัดตั้ง องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) ขึ้น มีฐานะเป็นรัฐวิสาหกิจ สังกัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อเป็นหน่วยงานบริหารจัดการพิพิธภัณฑ์

องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) ดำเนินการพัฒนา “พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์” ซึ่งตั้งอยู่ ณ เทคโนธานี ถนนเลียบคลองห้า ตำบลคลองห้า อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี จนแล้วเสร็จ  สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่ออาคารพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ว่า “อาคารพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์มหาราชินี” เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม และ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ  ให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จฯ แทนพระองค์ ทรงพิธีเปิดพิพิธภัณฑ์วันที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2543 และได้เปิดให้บริการแก่ประชาชนอย่างเป็นทางการ ในวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2543 เป็นต้นมา

 

การออกแบบและก่อสร้างอาคาร

อาคารพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์มหาราชินี เป็นสถาปัตยกรรมที่มีรูปทรงทันสมัย เพื่อดึงดูดความสนใจของผู้พบเห็นและสร้างภาพพจน์ใหม่ของพิพิธภัณฑ์ สะท้อนถึงความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอย่างเป็นรูปธรรม

นายเฉลิมชัย ห่อนาค รองผู้ว่าการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทยในขณะนั้น  เป็นหัวหน้าคณะออกแบบ ได้สร้างสรรค์ความแปลกใหม่ของรูปทรงอาคารเชิงเรขาคณิตมาใช้ในงานสถาปัตยกรรม และโครงสร้างทางวิศวกรรม โดยการนำมุมแหลมของรูปทรงลูกบาศก์มาเป็นฐาน ใช้ลูกบาศก์ 3 ลูก พิงกันอย่างมีเสถียรภาพ มีฐานรับน้ำหนักเพียง 3 จุด ๆ ละ 4,200 ตัน

 

โครงสร้างอาคารเป็นโครงเหล็ก ป้องกันสนิมโดยเคลือบด้วยสี Epoxy  พื้นทั้ง 5 ชั้นเป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก ออกแบบให้รับน้ำหนักบรรทุกได้ 500 กิโลกรัมต่อตารางเมตร รับแรงลมที่มาปะทะอาคารได้ 120 กิโลกรัมต่อตารางเมตร ส่วนผนังอาคารเป็นแผ่นเหล็กเคลือบผิวด้วยเซรามิก (Ceramic Steel) มีคุณสมบัติที่ดีด้านความคงทนถาวร โดยไม่ต้องทาสีตลอดอายุการใช้งาน เป็นฉนวนป้องกันความร้อนซึ่งช่วยประหยัดพลังงานในการควบคุมอุณหภูมิภายในอาคารได้เป็นอย่างดี  และอาคารสูงประมาณ 45  เมตร

 

 
กรอกอีเมลเพื่อติดตามข่าวสาร